การควบคุมแมลงวันในกระบวนการผลิตสัตว์ปีก : กุญแจสำคัญในการปฏิบัติ

หมวดหมู่: บทความน่ารู้

การควบคุมแมลงวันในกระบวนการผลิตสัตว์ปีก : กุญแจสำคัญในการปฏิบัติ

น.สพ.พลกฤษณ์ หนูศิริ ฝ่ายวิชาการ บริษัท เวท อะกริเทค จำกัด

 

 

          แมลงวันบ้าน Musca domestica เป็นสัตว์พาหะทั้งในฟาร์มและในบ้านเรือน การเพิ่มจำนวนอย่างมากของแมลงวันในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีกไม่สามารถยอมรับได้ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง เช่น พวกมันสร้างความรำคาญต่อคนงานและยังเป็นพาหะของโรคอีกด้วย

 

แมลงวันบ้าน

 

       เมื่อจำนวนประชากรของแมลงวันไม่ได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสม พวกมันสามารถก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุขในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกใกล้เคียงและชุมชนนอกฟาร์มในชนบท ซึ่งมักนำไปสู่ความสัมพันธ์ในชุมชนที่ย่ำแย่และการดำเนินคดีที่อาจเกิดขึ้น แมลงวันยังส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการผลิตอันเป็นผลมาจากความเครียดที่เกิดขึ้นในสัตว์ ในกรณีของการระบาดอย่างหนัก สัตว์ปีกสามารถถูกก่อกวนอย่างหนักทำให้ลดปริมาณการกินอาหารลงอย่างมาก ส่งผลให้การผลิตเนื้อสัตว์และไข่ลดลงตามมา

       แมลงวันจะถ่ายอุจจาระและสำรอกออกมาเป็นคราบติดตามโครงสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์ เช่น อุปกรณ์ให้แสงสว่างจะลดระดับการส่องสว่าง  และไข่แมลงวันเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในไข่สัตว์ปีกที่เพิ่งวางไข่ใหม่ ซึ่งลดความน่าดึงดูดใจในสายตาผู้บริโภคและลดมูลค่าทางตลาด

       แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะประมาณการความสูญเสียจากการผลิตโดยตรงที่เกิดจากแมลงวัน นอกเหนือจากบทบาทของแมลงวันในการแพร่โรคแล้ว แมลงวันเหล่านี้ยังเป็นสาเหตุในความเสียหายและเพิ่มต้นทุนในการควบคุมสำหรับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกซึ่งมีมูลค่ามากกว่าหนึ่งพันล้านยูโรต่อปี ในปี 1979 ต้นทุนโดยตรงของการควบคุมแมลงวันในโรงเรือนไก่ไข่มีค่าประมาณ 0.11 ยูโรต่อตัวต่อปี

       นักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณว่าแมลงวันคู่หนึ่งที่เริ่มผสมพันธุ์ในเดือนเมษายนมีศักยภาพภายใต้สภาวะที่เหมาะสมที่จะวางไข่และแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนได้ถึง 191,010,000,000,000,000,000 ตัว ในเดือนสิงหาคม

 

รูปที่  1 วงจรชีวิตและลักษณะจำเพาะของแมลงวันบ้าน

 

  • แมลงวันตัวเต็มวัยมีขนาดยาว 6-7 มม. มีตาสีแดง ปากเป็นรูพรุน
  • มีอายุอยู่ได้ 15-25 วัน
  • ตัวเมียวางไข่ครั้งละ 75-100 ฟอง ในช่วง 3-4 วัน
  • วงจรชีวิตที่สมบูรณ์จากไข่ถึงตัวเต็มวัยคือ 7-10 วัน (อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดในช่วงฤดูร้อน)

 

รูปแบบทางชีวภาพและพฤติกรรมของแมลงวัน

การเจริญเติบโต

       ไข่แมลงวันจะฟักเป็นตัวอ่อนในบริเวณฟักตัวก่อนเข้าสู่ดักแด้และในที่สุดก็พัฒนาเป็นตัวเต็มวัยเพื่อให้มีวงจรชีวิตซ้ำตลอดทั้งฤดูกาล วัฏจักรการพัฒนา ความหนาแน่นของประชากร และกิจกรรมประจำวันของแมลงวันเหล่านี้ ประกอบไปด้วย การบินในพื้นที่เฉพาะซึ่งขึ้นกับทรัพยากร อุณหภูมิ และปัจจัยด้านสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตอื่น ๆ เมื่ออาหารไม่ถูกจำกัด แมลงวันจะครบวงจรชีวิตในเวลาประมาณ

  • 10 วัน ที่อุณหภูมิ 29.5ºC
  • 21 วัน ที่อุณหภูมิ 21ºC
  • 45 วัน ที่อุณหภูมิ 15.5ºC

       ไข่สามารถฟักออกมาได้ในเวลาเพียง 9 ชั่วโมงหลังจากการตกไข่ และอาจใช้เวลาถึง 7-10 วันในการเปลี่ยนระยะไข่สู่ตัวเต็มวัยภายใต้สภาวะที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่เย็นกว่า สภาพแวดล้อมที่แห้งกว่า และการขาดแคลนอาหารสามารถยืดระยะเวลาการพัฒนานี้ได้ถึง 2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น

       แมลงวันผลิตได้หลายรุ่นต่อปีโดยที่สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกัน และทุกระยะของการพัฒนาสามารถพบได้ในเวลาเดียวกัน แม้ว่าการพัฒนาจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ แต่ก็เป็นไปได้ที่แมลงวันหลายรุ่นจะปรากฏขึ้นใน 1 ปี ในเขตอากาศร้อนและเขตอากาศอบอุ่นเนื่องจากนิสัยที่อยู่ได้ในหลายเขต

 

การกระจายตัว

       จากการศึกษาต่าง ๆ พบว่าแมลงวันสามารถเดินทางได้ในระยะทางระหว่าง 3.22 กม. ถึง 32.19 กม. เส้นทางการบินของพวกมันมุ่งเป้าไปที่การหาอาหารและสถานที่วางไข่ โดยพบว่าแมลงวันเดินทางในพื้นที่ชนบทมากกว่าในเขตเมืองเนื่องจากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์กระจัดกระจายมากกว่า ในตอนกลางคืนแมลงวันมักจะไม่ตื่นตัว

 

การกินอาหาร

       แมลงวันทั้งตัวผู้และตัวเมียกินอาหารทุกชนิดที่มาจากคนและสัตว์ ขยะ และมูลสัตว์ อาหารเหลวจะถูกกินเข้าไปโดยการดูด และอาหารแข็งจะถูกทำให้ชุ่มด้วยน้ำลายเพื่อให้ละลายก่อนกินเข้าไป

 

การแพร่กระจายของโรคและผลกระทบต่อผลผลิต

       แมลงวันบ้านเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญหลายโรคในมนุษย์และสัตว์ปีก เช่น โปรโตซัว แบคทีเรีย ไวรัส ริกเก็ตเซีย เชื้อรา และพยาธิตัวกลม และอาจทำให้เกิดปัญหาจุดกระจายบนผิวไข่และบนหน้าต่างโรงเรือน

 

ความต้านทานต่อยาต้านจุลชีพ

       การควบคุมแมลงวันอาจถูกมองว่าเป็นวิธีการลดการแพร่กระจายของโรคในฟาร์ม ขณะเดียวกันก็ช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคดังกล่าวด้วย แมลงวันเป็นพาหะและแพร่เชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะทั้งในฟาร์มและในโรงพยาบาล ดังนั้นการควบคุมประชากรแมลงวันจึงเป็นวิธีหนึ่งในการลดการแพร่กระจายของแบคทีเรียที่ดื้อยาด้วย

       สายพันธุ์ Musca domestica ได้รับการระบุว่าเป็นตัวพาทางกายภาพของเชื้อโรค เช่น paramyxovirus ที่เป็นสาเหตุของโรคนิวคาสเซิล ไวรัสไข้หวัดนกในช่วง 72 ชั่วโมงหลังการติดเชื้อ และเชื้อแบคทีเรีย เช่น Shigella spp. Vibrio cholerae, Escherichia coli, Staphylococcus aureus, Salmonella spp., Klebsiella spp., Enterobacter spp., Aeromonas spp., Campylobacter spp. ตลอดจนเชื้อโปรโตซัวและไข่ของพยาธิตัวตืด

       การรบกวนของแมลงวันบ้านต่อคนงานยังส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลง เนื่องจากคนงานเหล่านั้นต้องเสียเวลาไล่แมลงวันออกจากใบหน้าและอาจหลีกเลี่ยงการทำงานในสถานที่ที่มีประชากรแมลงวันสูงเกินทน

       แมลงวันยังเป็นพาหะของเชื้อจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารเป็นพิษในมนุษย์ เช่น Salmonella spp., Campylobacter spp., E. coli และ Listeria spp.

 

คำอธิบายระบบการจัดการในพื้นที่ที่มีปัญหา

       แมลงวันเป็นปัญหาในโรงเลี้ยงสัตว์ปีกที่มีมูลสัตว์มากและมีการจัดการไม่เพียงพอ เนื่องจากอาหารชนิดนี้เหมาะสำหรับการสืบพันธุ์ของแมลงวัน โดยปกติมูลสัตว์จะสะสมอยู่ใต้ตัวสัตว์จนกว่าจะมีการปลดสัตว์หมดฝูง ซึ่งแตกต่างกันไปตั้งแต่ 5 สัปดาห์ในกรณีของการผลิตไก่เนื้อ จนถึงมากกว่า 52 สัปดาห์ในไก่ไข่ ความสะดวกในการเข้าและออกจากโรงเรือนของแมลงวัน ตลอดจนการเข้าถึงมูลสัตว์สด เอื้อต่อการพัฒนาและการคงอยู่ของพวกมันในฟาร์ม

 

ประเภทของโรงเรือนสัตว์ปีกที่ได้รับผลกระทบ

  • โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีกบนพื้นโดยไม่มีกรง สามารถกินอาหารและน้ำได้อย่างอิสระ เช่น ไก่งวง เป็ด ไก่เนื้อ
  • โรงเรือนที่ไม่มีระบบการจัดการขยะ หรือมีระบบบางส่วน ที่มีพื้นระแนงสูง ซึ่งเป็นที่ตั้งของรางน้ำดื่ม เครื่องให้อาหาร และรังออกไข่ เช่น ฟาร์มพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หรือไก่ไข่ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ มูลสัตว์จะตกอยู่ใต้พื้นระแนงที่มักเข้าทำความสะอาดไม่ได้
  • โรงเรือนที่มีไก่ไข่อยู่ในกรง โดยที่มูลสัตว์ตกลงไปในหลุมรวบรวมใต้กรง เช่น โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่

       ในกรณีของไก่ไข่ที่เลี้ยงในกรงหรือในกรงตับที่มีการติดตั้งระบบสายพานลำเลียง สายพานจะรวบรวมมูลสัตว์และมักจะเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่จัดการมูลสัตว์แห้ง การปฏิบัติเช่นนี้จะลดพื้นที่เพาะพันธุ์และลดจำนวนแมลงวันให้ต่ำลง

 

การจัดการสัตว์พาหะแบบบูรณาการ (IPM)

       การจัดการสัตว์พาหะแบบบูรณาการ (IPM) ของประชากรแมลงวันเป็นโปรโตคอลที่แนะนำสำหรับการใช้งานโปรแกรมควบคุมที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่

 

การติดตามเฝ้าระวัง

       การตรวจสอบจำนวนประชากรแมลงวันเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของ IPM และได้มีการพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยหลายชนิดที่ช่วยให้เกษตรกรตรวจสอบการปรากฏตัวของแมลงวันตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการกำหนดเวลาและความถี่ของการใช้สเปรย์กำจัดแมลงวัน

 

สุขอนามัย

       การฆ่าเชื้อช่วยกำจัดพื้นที่เพาะพันธุ์ของแมลงวัน ส่งผลให้ลดจำนวนตัวอ่อนและลดพื้นที่ที่แมลงวันตัวเต็มวัยจะวางไข่ได้ การจัดการมูลสัตว์แห้งมีประสิทธิภาพมากในการลดจำนวนแมลงวัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก ซึ่งทำได้โดย

  • การออกแบบอาคารและการระบายอากาศที่ดีเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศเหนือมูลสัตว์
  • การวางระบบระบายน้ำที่ดีออกจากโรงเรือน
  • การบำรุงรักษาระบบน้ำดื่มที่ดีเพื่อลดการรั่วไหลของน้ำ

                 

       เพื่อที่จะอนุรักษ์สัตว์บางชนิดที่ดีที่อยู่ในมูลสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ล่าและปรสิตของแมลงวัน ไม่ควรกำจัดมูลสัตว์ในครั้งเดียว ถ้าเป็นไปได้ควรเอามูลสัตว์ออกบางส่วนในลักษณะสลับกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนที่อากาศเย็นกว่าเมื่อกิจกรรมของแมลงวันลดลง โดยทิ้งมูลสัตว์เก่าไว้เพื่อให้ดูดซับและทำให้มูลสัตว์สดเป็นอาหารสำหรับแมลงที่เป็นประโยชน์

 

การควบคุมทางกลไก

       การควบคุมทางกลไกเกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์ควบคุมแมลงวันหรือการกำจัดมูลสัตว์ รวมทั้งสิ่งกีดขวางทางกายภาพ เช่น ตะแกรงหรือพัดลม เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงวันเข้าไปในโรงเรือน กับดัก เครื่องตีแมลงวันไฟฟ้า กับดักไฟฟ้าไม่เหมาะสมกับการควบคุมจำนวนแมลงวันจำนวนมาก เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมากและต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์เหล่านี้มีประโยชน์สำหรับการจัดการในพื้นที่การผลิตขนาดเล็ก สำนักงาน และพื้นที่อื่น ๆ ใกล้โรงเรือนสัตว์ปีก

 

การควบคุมทางชีวภาพ

       การควบคุมทางชีวภาพควรเป็นส่วนหนึ่งของโครงการควบคุมแมลงวันที่ครอบคลุมในฟาร์มสัตว์ปีก กลยุทธ์การควบคุมทางชีวภาพรวมถึงการปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของศัตรูตามธรรมชาติของแมลงวัน เช่น

  • จัดให้มีที่พักพิงชั่วคราวสำหรับศัตรูตามธรรมชาติของแมลงวัน
  • เลือกใช้สารกำจัดแมลงที่เป็นพิษน้อยกว่า
  • ควบคุมความชื้นของมูลสัตว์ให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของศัตรูตามธรรมชาติ

ผู้ล่า : ตัวต่อปรสิต ด้วงกินสัตว์ และไรนักล่า ถูกใช้เพื่อควบคุมระยะตัวอ่อนของแมลงวัน การปล่อยชนิดที่ถูกต้องในเวลาและปริมาณที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ไส้เดือนฝอยก่อโรคหลายชนิดยังได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางว่าเป็นตัวควบคุมชีวภาพที่มีศักยภาพในการต่อต้านแมลงวัน

เชื้อโรค : จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในแมลงอาจเป็นสิ่งที่น่าสนใจในฐานะตัวแทนในการควบคุมแมลงวัน และมีการศึกษาหลายชิ้นที่พยายามตรวจสอบเชื้อที่รุนแรงเพื่อพัฒนาสูตรและกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการปฏิบัติงาน

สารสกัดจากพืช : นอกจากนี้ มีการใช้วัสดุจากพืชและน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากพืชตั้งแต่สมัยโบราณเพื่อขับไล่หรือฆ่าแมลงวัน และถูกทำให้น่าสนใจอีกครั้งสำหรับการขายในเชิงพาณิชย์ในโปรแกรม IPM สำหรับสัตว์ปีก

 

การควบคุมทางเคมี

       การใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อควบคุมแมลงวันเป็นองค์ประกอบสำคัญของโปรแกรมควบคุมแมลงวันอย่างครอบคลุม ผู้ผลิตต้องติดตามประชากรแมลงวันอย่างสม่ำเสมอเพื่อประเมินโปรแกรมควบคุมแมลงวันและตัดสินใจว่าเมื่อใดที่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง และบันทึกสารเคมีและปริมาณที่ใช้อย่างถูกต้อง การเลือกช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมและการใช้ยาฆ่าแมลงโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมกับการจัดการมูลสัตว์ ความชื้น และสุขาภิบาลที่ไม่ดี จะเพิ่มจำนวนแมลงวันและความจำเป็นในการใช้ยาฆ่าแมลงที่เพิ่มขึ้น

       สิ่งสำคัญคือต้องจัดการการดื้อต่อยาฆ่าแมลงที่อาจเกิดขึ้นได้ และจำเป็นต้องใช้โปรแกรมควบคุมสัตว์พาหะที่ครอบคลุม

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าแมลงโดยไม่จำเป็น
  • ใช้วิธีการควบคุมทางกายภาพหรือทางชีววิทยา
  • อนุรักษ์พื้นที่ปลอดสารเคมีไว้สำหรับสัตว์ที่ไวต่อสารเคมี
  • เป็นไปไม่ได้ที่จะกำจัดแมลงวันทั้งหมด ดังนั้นแนวทางปฏิบัติในการควบคุมจึงเน้นที่การลดจำนวนแมลงวันให้เหลือระดับที่ยอมรับได้

                 

       ขอแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพิสูจน์ประสิทธิภาพแล้ว เช่น กลุ่มไพรีทรอยด์ทางเลือก, ออร์กาโนฟอสเฟต, นีโอนิโคตินอยด์, สไปโนซี และสารควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง (IGRs) ในกรณีที่การใช้สารกำจัดแมลงกลายเป็นเครื่องมือควบคุมเพียงอย่างเดียว เพื่อจัดการความต้านทานจำเป็นต้องมีการหมุนเวียนของสารกำจัดแมลง การเปลี่ยนแปลงกลไกการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างสารเคมีต่าง ๆ

 

รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างแผนการหมุนเวียนยาฆ่าแมลง รวมถึงยาฆ่าแมลงหลักบางประเภทที่มีจำหน่ายในท้องตลาด

พึงระลึกไว้เสมอว่าไม่แนะนำให้ใช้การหมุนเวียนระหว่างไพรีทรอยด์และออร์กาโนฟอสเฟต

เนื่องจากอาจมีการต้านทานข้ามระหว่างทั้งสองกลุ่ม ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำของเอนไซม์เอสเทอเรสหรือโมโนออกซีเจเนส

 

การใช้ยาฆ่าแมลง

       IGRs สามารถใช้ร่วมกับยาฆ่าแมลงตัวเต็มวัยได้ เนื่องจากกลไกการออกฤทธิ์ต่างกัน และควรใช้ยาฆ่าแมลงที่ผ่านการรับรอง (ขึ้นทะเบียน) เท่านั้น ตามข้อบ่งใช้บนฉลาก

 

การใช้ยาฆ่าแมลงสำหรับตัวเต็มวัย

       การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เคมีบนผนังและเพดานของโรงเลี้ยงสัตว์ปีก ตลอดจนการใช้เหยื่อบนกระดานและสถานที่ทำงาน สามารถใช้ร่วมกันได้กับการใช้สารชีวภาพ ตราบใดที่หลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของมูลไก่ได้ การใช้เหยื่อล่อแมลงวันและการเลือกใช้สารเคมีควบคุมแมลงในส่วนบนของโรงเรือนที่แมลงวันพักอยู่นั้นใช้ร่วมกันได้กับสารควบคุมทางชีวภาพ

 

การใช้ยาฆ่าแมลงสำหรับตัวอ่อน

       ยาฆ่าแมลงสำหรับตัวอ่อนเป็นสารเคมีที่ใช้โดยตรงกับมูลไก่เพื่อฆ่าตัวอ่อนแมลงวัน สามารถใช้เป็นสเปรย์เฉพาะจุด โดยใช้แบบแกรนูลหรือเป็นพรีมิกซ์ ยาฆ่าแมลงสำหรับตัวอ่อนส่วนใหญ่เป็น IGRs โดยที่ไซโรมาซีนเป็นส่วนประกอบหลัก การใช้ไซโรมาซีนเป็นวัตถุเจือปนอาหารหรือใส่มูลไก่โดยตรงนั้นเป็นที่ยอมรับได้ เนื่องจากค่อนข้างไม่เป็นอันตรายต่อไรนักล่าและด้วงกินสัตว์

 

ปัญหาชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสัตว์อย่างเข้มข้น

       CAFOs (Concentrated Animal Feeding Operations) เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกทางการเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เลี้ยงสัตว์ ซึ่งปกติแล้วจะมีความหนาแน่นสูง เพื่อผลิตเนื้อสัตว์ ไข่ หรือนม ที่อยู่อาศัยใกล้ศูนย์เหล่านี้มักจะมีประชากรแมลงวันสูงกว่าบ้านเรือนทั่วไป ความขัดแย้งระหว่างชุมชนและผู้จัดการ CAFO กำลังเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายขนาดของฟาร์มเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ความขัดแย้งระหว่าง CAFO กับผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นเมื่อแมลงวันบุกเข้าไปในพื้นที่ใกล้เคียง ส่งผลให้เกิดการดำเนินการในเวทีด้านสาธารณสุข ซึ่งนำไปสู่การดำเนินคดี ดังนั้น CAFOs ต้องพัฒนาและรักษาโปรแกรม IPM ที่ประสบความสำเร็จเพื่อลดและควบคุมประชากรแมลงวัน

  • แมลงวันบ้านเป็นสัตว์พาหะหลักในโรงเลี้ยงสัตว์ปีกเนื่องจากมีพื้นที่สำหรับการเพาะพันธุ์จำนวนมาก
  • แมลงวันบ้านเป็นพาหะของโรคต่าง ๆ เช่น โรคนิวคาสเซิล ไข้หวัดนก และอีโคไล
  • แมลงวันบ้านสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ควบคุมไม่ได้ในเวลาอันสั้น
  • ประชากรแมลงวันจากสมาชิก CAFO ที่บุกรุกเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการสาธารณสุขและ / หรือการดำเนินคดีทางกฎหมาย
  • โปรแกรม IPM ที่ประสบความสำเร็จจะส่งผลให้มีการควบคุมประชากรให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
  • การหมุนเวียนระหว่างยาฆ่าแมลงประเภทต่าง ๆ ที่เหมาะสมเป็นกุญแจสำคัญในการหลีกเลี่ยงการพัฒนาการดื้อยา
  • การสุขาภิบาล การกำจัด หรือการบำบัดสถานที่เพาะพันธุ์มีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการควบคุมแมลงวัน
  • การควบคุมแมลงวันถือว่าเป็นวิธีการลดการแพร่กระจายของโรคในฟาร์ม ลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคเหล่านั้น
  • การควบคุมแมลงวันเหล่านี้อาจเป็นวิธีหนึ่งในการลดการแพร่กระจายของแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ

 

เอกสารอ้างอิง

Hack Richard, Controlling flies in poultry production, a key practice; aviNews , 02 Feb 2021

 

 

18 สิงหาคม 2565

ผู้ชม 370 ครั้ง

Engine by shopup.com