การจิกขน (Feather pecking; FP) ปัญหาที่ยังคงอยู่

หมวดหมู่: บทความน่ารู้

การจิกขน (Feather pecking; FP) ปัญหาที่ยังคงอยู่

สพ.ญ.มาฆะเพ็ญ ทรงอาจ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ บริษัท เวท อะกริเทค จำกัด

 

 

          Feather pecking (FP) หรือการจิกขน เป็นพฤติกรรมผิดปกติประเภทหนึ่งในสัตว์ปีกที่ประกอบด้วยการจิกที่ขนของสัตว์ปีก บางครั้งจะดึงขนออกมาและกิน FP เป็นทั้งปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์และเศรษฐกิจ การจิกถอนขนทำให้เกิดความเจ็บปวด เพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและทำให้เกิดการสูญเสียขน สามารถจำแนก FP ได้สองรูปแบบคือ FP แบบนุ่มนวล (Gentle FP; GFP) และแบบรุนแรง (Severe FP; SFP)  โดย GFP จะเป็นการจิกที่ปลายขนอย่างนุ่มนวล FP ประเภทนี้มักไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนักและโดยทั่วไปแล้วผู้เลี้ยงอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก แต่การเกิด GFP สามารถบ่งบอกถึงปัญหาสวัสดิภาพในการแสดงของสัตว์ปีกได้ ส่วนพฤติกรรม FP ที่รุนแรง (SFP) เป็น FP ที่มีปัญหามากที่สุดในแง่ของความเสียหายต่อตัวสัตว์ ประกอบด้วยการจิกและดึงขน ส่งผลให้ขนบริเวณส่วนหลัง ช่องทวาร และส่วนหางหายไป

          ผู้เลี้ยงต้องแยกความแตกต่างระหว่าง FP และการจิกแบบก้าวร้าว โดยพฤติกรรมก้าวร้าวการจิกจะมุ่งไปที่ศีรษะและคอ จิกหัวรุนแรง โดยมีแรงจูงใจพื้นฐานเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งลำดับชั้น แต่ FP กำหนดเป้าหมายไปที่ร่างกายส่วนใหญ่จะเป็นขนบริเวณก้น พุง หรือหาง และมีโครงสร้างการจิกซ้ำๆ อย่างชัดเจน และมีการดึงขน

คะแนนความเสียหายของขนที่เกิดจากการจิกขน

คะแนน 1: ขนหลุดเล็กน้อย - มีการเสียหายปานกลาง ขนเสียหาย หรือขนที่อยู่ติดกัน 2 อันขึ้นไปหายไปจนหมด มองเห็นผิวหนังได้ขนาดมากสุด < 5 ซม. (2 นิ้ว) ดังรูปที่ 1,2

รูปที่ 1 : ความเสียหายของขน คะแนน 1               รูปที่ 2 : ความเสียหายของขน คะแนน 1

 

คะแนน 2: ขนร่วงอย่างรุนแรง – มากกว่า 5 ซม. (2 นิ้ว) โดยมองเห็นผิวหนังที่เปลือยเปล่า ดังรูป 3,4

รูปที่ 3 : ความเสียหายของขน คะแนน 2                    รูปที่ 4 : ความเสียหายของขน คะแนน 2

ปัจจัยที่มีผลต่อการจิกขน

1.ปัจจัยทางโภชนาการ

       การขาดกรดอะมิโนบางชนิด (เมทไธโอนีน, อาร์จินีน) แร่ธาตุบางชนิด (NaCl, Ca, Mg) คุณค่าทางโภชนะทั้งโปรตีนและเยื่อใยเป็นปัจจัยที่ทราบกันว่ามีอิทธิพลต่อการเกิดอุบัติการณ์ของ FP  การเพิ่มระดับโปรตีนในอาหารมีผลดีต่อขนของสัตว์ปีก ช่วยลดทั้ง FP และ Cannibalism (การจิกกินเนื้อกัน)  และพบว่าความเสียหายจากการจิกขนจะลดลงหลังจากเสริมกรด อะมิโน L-tryptophan ในอาหาร การเปลี่ยนแปลงแหล่งโปรตีนในอาหารจากสัตว์เป็นพืชมีโอกาสเพิ่มความเสียหายจากการจิกขนที่มากขึ้น การจิกขนอย่างรุนแรงในระยะวางไข่ในอาจเพิ่มขึ้นเมื่อระดับโปรตีนและกรดอะมิโนต่ำเกินไป แนะนำให้ใช้เกณฑ์ต่อไปนี้ต่อวัตถุแห้งต่อกิโลกรัม:

  • โปรตีน: 125 กรัม/กก.
  • ไลซีน: 8.2 กรัม/กก.
  • เมธไทโอนีน + ซิสเทอีน: 5.1 ก./กก.

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของอาหารหรือความน่ากินสามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการจิกขนอย่างรุนแรงได้

 

2. ปัจจัยจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ

       2.1 ความเข้มของแสง พบว่าความเข้มของแสงสูงจะกระตุ้นให้เกิด FP และเกิด Cannibalism ในไก่ไข่ การใช้ความเข้มแสงน้อยลงจะลดความรุนแรงของ FP ลง

       2.2 ระบบโรงเรือนที่อยู่ เนื่องจากไก่ไข่ใช้เวลาอยู่ในกรงในโรงเรือนเป็นส่วนใหญ่ สภาพแวดล้อมของกรง มีโอกาสให้ไก่ไข่ในกรงเกิด FP สูงกว่า ไก่ไข่ที่เลี้ยงปล่อยพื้น ที่ได้มีการวิ่งกลางแจ้งที่มีพืชคลุมดิน การใส่ฟางหรือหญ้าเข้าไปในกรงจะช่วยลดปัญหา FP ได้

       2.3 ปัจจัยทางสังคม พบว่า FP ไม่ได้ขึ้นอยู่กับลำดับชั้นทางสังคมหรือเป็นการจิกก้าวร้าว การจิกขนมักพบได้ในกลุ่มไก่อายุ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ขนาดของกลุ่มที่เลี้ยงและความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้น มีผลต่ออุบัติการณ์ของ FP ที่เพิ่มขึ้น

       2.4 ความแตกต่างทางเพศ พบเพศผู้มีแนวโน้มที่จะเกิด FP น้อยกว่าเพศเมีย การลดความก้าวร้าว ไม่มีผลต่อพฤติกรรม FP แต่การอยู่รวมฝูงของไก่กระทงจะเพิ่มการจิกมากขึ้น ดังนั้นหากสามารถแยกเพศเลี้ยงก็จะช่วยลดปัญหา FP

       2.5 อายุ  การพัฒนาการของ FP นั้นได้รับอิทธิพลอย่างมากจากอายุ โดยในช่วงอายุยังน้อย FP จะไม่รุนแรงและพบไม่มากเท่าสัตว์ที่อายุมาก โดยส่วนใหญ่การ FP ในไก่อายุน้อยจะเป็นการทำเพื่อการติดต่อทางสังคม ในขณะที่ FP เมื่ออายุมากขึ้นอาจเป็นผลจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม สัตว์อยู่แล้วรู้สึกไม่สบาย

       2.6 ปัจจัยทางพันธุกรรม สายพันธุ์มีผลต่อการเกิด FP โดยมีสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการจิกขนสูง (High Feather pecking ; HFP) และเส้นจิกขนต่ำ (Low Feather Pecking ; LFP) หลายงานทดลองมีความพยายามในการระบุยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับ FP โดยใช้ quantitative trait loci (QTL) โดยตรวจพบ QTL ชี้นำสำหรับ FP ในโครโมโซมไก่ เครื่องหมายทางพันธุกรรมที่เชื่อมโยงกับ QTL สามารถใช้เป็นเครื่องหมายทางพันธุกรรมในอนาคตให้เลือกสายพันธุ์ที่การจิกขนลดลง

       2.7 การควบคุมทางสรีรวิทยาของการจิกขน

  • ฮอร์โมนและการจิกขน FP ในไก่ไข่อาจสัมพันธ์กับความเครียด โดยการจิกขนนกมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความเข้มข้นของระดับคอร์ติโคสเตอโรน (corticosterone) ในพลาสมา El-lethey และคณะ (2001) จำลองความเครียดเรื้อรังด้วยการเลี้ยงไก่ด้วยอาหารที่มีส่วนผสมคอร์ติโคสเตอโรน พบว่าเพิ่มอัตราการเกิด FP ในแม่ไก่ที่เลี้ยงบนกรงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
  • ผลของสารสื่อประสาทต่อการจิกขน พบว่าแคททีโคลามีน (Catecholamines) มีผลต่อสภาพทางพฤติกรรมหลายอย่างทั้งในมนุษย์และสัตว์ สารสื่อประสาทบางชนิดเช่น นอร์อะดรินาลีน (noradrenaline), เซโรโตนิน (serotonin) และโดพามีน (dopamine) มีบทบาทในการควบคุม FP  ให้ลดลงได้ ในอาหารสัตว์ปีกที่เสริมทริปโตเฟน (สารตั้งต้นของ Serotonin) จะเพิ่มการหมุนเวียนของ Serotonin ในสมองและนำไปสู่การลดลงของ FP นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าการฉีดอะโปมอร์ฟีน (apomorphine) ซึ่งมีฤทธิ์เสริมการทำงานของตัวรับโดพามีนให้กับลูกไก่จะช่วยการเกิดลด FP ได้ และการมีระดับ dopamine หมุนเวียนในสมองมากจะช่วยลด FP

       2.9 การจิกขนและการจิกกินกัน (cannibalism) FP เพิ่มความเสี่ยงต่อการจิกกินกันได้เมื่อมีการจิกถอนขนอย่างรุนแรงและมีเลือดออกจากผิวหนัง โดยพบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างความรุนแรงของ FP ที่ทำให้เกิดเลือดสด จะดึงดูดไก่ตัวอื่นมากินและกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการจิกกินกันตามมา การจิกกินกันแบบร้ายแรงคือการจิกขนและผิวหนังในบริเวณใกล้เคียงกับช่องทวาร (cloaca) และเยื่อเมือกช่องทวาร (cloacal mucosa) และอาจมีการจิกไปถึงเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในช่อง cloaca ส่งผลให้อวัยวะที่ถูกจิกหลุดออกมาจากโพรงร่างกายและทำให้ไก่ที่ถูกจิกนั้นเสียชีวิตได้

       2.10 ความหวาดกลัว ความเครียด ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด FP มากขึ้น

 

3. ปัจจัยจากสุขภาพ

          ไรไก่หรือไรแดง (Dermanyssus gallinae ) จำนวนที่พอเหมาะก็สามารถทำให้เกิดความเครียด ความไม่สบายตัวและการจิกขนอย่างรุนแรงในไก่ และยังเป็นปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ด้วย สร้างปัญหามากมายและยังทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้โรคต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพสัตว์ รวมถึงพยาธิภายในก็มีส่วนทำให้ไก่มีความไวต่อการเกิด FP มากขึ้น

           

          ปัจจุบันนี้การเลี้ยงสัตว์ปีกเป็นแบบอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงบนกรง เราสามารถเจอ FP ได้ และถ้าพบว่ามี FP ในฟาร์มอย่างรุนแรงก็มักจะทำให้เกิด cannibalism ขึ้นตามมาได้ ทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ดังนั้นจากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานี้ การที่เราให้สัตว์ปีกอยู่สบายตามสวัสดิภาพของสัตว์ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลไกทางสรีรวิทยา ดูแลสัตว์ให้มีสุขภาพแข็งแรง ให้อาหารและสารเสริมในอาหารและน้ำที่เหมาะสม ร่วมกับการคัดเลือกสายพันธุ์สัตว์ปีกที่ลดโอกาสการเกิด FP ก็จะช่วยให้ปัญหา FP ในฟาร์มลดลงได้

  

เอกสารอ้างอิง 

Déborah T., V.N. Thea, W. Claire, and M. Xavier. 2017. Guideline Feather Pecking Henovation.

El-lethey, H. Jungi, TW., and HUBER-EICHER, B. 2001: Effects of feeding corticosterone and housingconditions on feather pecking in laying hens (Gallus gallus domesticus). Physiol Behav. 73: 243-251.

Rodenburg T.B., M.M. Van Krimpen, I.C. De Jong, E.N. De Haas, M.S. Kops, B.J. Riedstra, R.E.

Nordquist, J.P. Wagenaar. M. Bestman, and C.J. Nicol. 2013. The prevention and control of feather pecking in laying hens: identifying the underlying principles. World Poult. Sci. Vol. 69:361-374.

Sedlaakova M., B.Bilalk, and A.Koeal. 2004. Feather Pecking in Laying Hens:Environmental and endogenous factors. ACT. VET. BRNO. 73: 521531.

 

 

 

 

18 สิงหาคม 2565

ผู้ชม 512 ครั้ง

Engine by shopup.com