ยาฆ่าเชื้อกลุ่มไหน จัดการ ASF ได้อยู่หมัด

หมวดหมู่: บทความน่ารู้

น.สพ.ภาคภูมิ เกียรติจานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิชาการ บริษัท เวท อะกริเทค จำกัด

 

ยาฆ่าเชื้อกลุ่มไหน จัดการ ASF ได้อยู่หมัด

         โรคอหิวาห์สุกรแอฟริกา (African Swine Fever) ยังคงเป็นประเด็นร้อนในวงการการเลี้ยงสุกรภายในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงภายในประเทศไทยเราเอง ที่แม้ว่าจะไม่มีการประกาศการแพร่ระบาดของโรคอย่างเป็นทางการ แต่ในภาคสนามก็มีรายงานความเสียหายกระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคนี้ยังคงไม่มีวัคซีนและยาที่สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สิ่งที่เกษตรกรสามารถทำได้เพียงอย่างเดียว คือ การตั้งรับอย่างมีระบบและตั้งการ์ดให้สูงตลอด จนกว่าสถานการณ์การระบาดจะดีขึ้น

            สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ คือ การจัดการระบบป้องกันทางชีวภาพ (biosecurity) ซึ่งหนึ่งในหลายปัจจัยที่จะช่วยให้ระบบดังกล่าวสามารถทำงานได้อย่างดี คือ การเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ มีการทดลองว่าสามารถฆ่าเชื้อไวรัสอหิวาห์สุกรแอฟริกา (ASFv) ได้จริง  โดยในบทความนี้จะช่วยหาคำตอบและค้นหายาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพประกอบการตัดสินใจเลือกยาฆ่าเชื้อมาใช้ในฟาร์ม

            ในการทดสอบประสิทธิภาพของยาฆ่าเชื้อ ค่าที่ใช้ในการประเมิน คือ ค่าล็อก (log) ของปริมาณเชื้อที่ลดลงหลังจากสิ้นสุดการทดลอง โดยยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ จะต้องมีค่าอย่างน้อย 4-log10 ซึ่งหมายความว่า สามารถฆ่าเชื้อได้ 99.99% ดังรูปภาพที่ 1

            จากรายงานการวิจัยในปี 2020 ที่ผ่านมา ในประเทศโปแลนด์ ได้มีการทดสอบยาฆ่าเชื้อทั้งสิ้น 8 ชนิด ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อที่คุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี ได้แก่

  • ฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) หรือ ฟอร์มาลีน (formaline)
  • โซเดียม ไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite)
  • โซดาไฟ (caustic soda)
  • กลูเตอราลดีไฮด์ (glutaraldehyde)
  • ฟีนอล (phenol)
  • เบนซาลโคเนียม คลอไรด์ (benzalkonium chloride) ซึ่งอยู่ในกลุ่มควอเตอร์นารี แอมโมเนียม คอมพาวด์ (QAC)
  • โพแทสเซียม เพอร์ออกซีโมโนซัลเฟต (potassium peroxymonosulfate)
  • กรดอะเซติค ซึ่งอยู่ในกลุ่มกรดอินทรีย์ (acetic acid)

 

รูปภาพที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างค่า log และประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อ โดยค่า log ยิ่งมาก ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อจะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย

               คณะวิจัยได้เลือกเชื้อไวรัสสเตรน BA71V ซึ่งได้รับจากห้องปฏิบัติการอ้างอิงของกลุ่มสหภาพยุโรป (the European Union Refence Laboratory) ประเทศสเปน ทำการทดสอบในน้ำกระด้าง และแบ่งกลุ่มของสารละลายออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  • สภาพจำลองการมีดินปนเปื้อนต่ำ (low-level soiling) โดยผสมอัลบูมินของโค (bovine albumin) 3 กรัม/ลิตร
  • สภาพจำลองการมีดินปนเปื้อนสูง (high-level soiling) โดยผสมอัลบูมินของโค (bovine albumin) 10 กรัม/ลิตร และสารสกัดจากยีสต์อีก 10 กรัม/ลิตร

ทั้ง 2 กลุ่มสารละลาย มีปริมาณไวรัสตั้งต้นอยู่ที่ 106.5 TCID50/ml มีระยะเวลาการสัมผัสเชื้อ (contact time) 30 นาที และทำการทดสอบที่อุณหภูมิ 10°C

 

ผลการทดสอบ

            ในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อ จะใช้ค่า log ในการตัดสิน และยาฆ่าเชื้อที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส (virucidal) ได้ จะต้องมีค่า log ≥ 4 ดังตารางที่ 1


ตารางที่
1 ค่า log ที่ลดลงของปริมาณเชื้อไวรัสอหิวาห์สุกรแอฟริกา (ASFv)

ชนิดยาฆ่าเชื้อ

ความเข้มข้น

ที่ทดสอบ (%)

ค่า log ที่ลดลง

ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัส

ขุ่นน้อย

ขุ่นมาก

ขุ่นน้อย

ขุ่นมาก

โซเดียม ไฮโปคลอไรต์

(15% คลอรีน)

1.5

1.0

0.3

5.30

5.30

5.30

4.58

5.58

4.17

+

+

+

+

+

-

โซดาไฟ

 

3.0

2.0

1.0

4.67*

4.91

4.83

4.67*

5.17

4.17

n.a.

+

+

+

+

-

โพแทสเซียม เพอร์ออกซีโมโนซัลเฟต

2.0

1.0

0.5

3.75*

4.75

4.75

4.17*

5.17

5.17

n.a.

+

+

n.a.

+

+

ฟีนอล

2.0

1.0

0.5

3.42*

4.42

0.08

3.75*

4.75

0.08

n.a.

+

-

n.a.

+

-

กรดอะเซติค

3.0

2.0

1.0

4.33

4.33

3.92

5.00

3.00

1.42

+

+

n.a.

+

-

-

กลูเตอราลดีไฮด์

1.0

0.5

0.1

4.33

4.33

4.33

4.00*

4.00*

5.00

+

+

n.a.

+

+

+

ฟอร์มาลดีไฮด์

1.6

0.8

0.4

2.08*

1.83*

2.83*

1.67*

2.50*

2.67*

n.a.

n.a.

n.a.

n.a.

n.a.

n.a.

เบนซาลโคเนียม

คลอไรด์

2.0

1.0

0.5

2.25*

4.25

4.08

2.67*

3.75*

3.75*

n.a.

+

-

n.a.

n.a.

n.a.

*เป็นพิษต่อเซลล์ทดสอบ   + สามารถฆ่าได้   - ไม่สามารถฆ่าได้   n.a. ไม่สามารถตรวจได้เนื่องจากเป็นพิษต่อเซลล์ทดสอบ

            ในการทดสอบครั้งนี้ พบว่ามียาฆ่าเชื้ออยู่ 4 ชนิดที่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ทดสอบสูง ได้แก่ ฟอร์มาลดีไฮด์, กลูเตอราลดีไฮด์, เบนซาลโคเนียม คลอไรด์ และกรดอะเซติค และพบว่าสภาพความขุ่นของสารละลายมีผลลดประสิทธิภาพของยาฆ่าเชื้ออย่างเห็นได้ชัด โดยพบว่าค่า log จะลดลงในสภาพที่มีความขุ่นสูง มีเพียงโพแทสเซียม เพอร์ออกซีโมโนซัลเฟต ที่ความขุ่นไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน

            จากข้อมูลการทดสอบข้างต้น สามารถเรียงลำดับประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัสจากมากไปน้อย โดยวัดจากค่า log ได้ ดังนี้ 1) โซเดียม ไฮโปคลอไรต์ 2) โซดาไฟ 3) โพแทสเซียม เพอร์ออกซีโมโนซัลเฟต 4) ฟีนอล 5) กรดอะเซติค 6) กลูเตอราลดีไฮด์ 7) ฟอร์มาลดีไฮด์ 8) เบนซาลโคเนียม คลอไรด์ โดยความเข้มข้นของยาฆ่าเชื้อแต่ละชนิดที่ออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด สามารถดูได้จากกราฟที่ 1 และ 2

 กราฟที่ 1 ความเข้มข้นของยาฆ่าเชื้อแต่ละชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในสภาพที่สารละลายมีความขุ่นน้อย เรียงลำดับจากมากไปน้อย

กราฟที่ 2 ความเข้มข้นของยาฆ่าเชื้อแต่ละชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในสภาพที่สารละลายมีความขุ่นมากเรียงลำดับจากมากไปน้อย

            นอกจากนี้ สิ่งที่ได้จากการทดสอบครั้งนี้ พบว่าเชื้อไวรัสตั้งต้นมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในสภาพที่มีความขุ่นจากสารอินทรีย์ที่มาก หมายความว่าเชื้อไวรัสสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ดีขึ้นในสภาพที่มีสารอินทรีย์สูง

            จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น พบว่ายาฆ่าเชื้อแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพต่างกันในการทำลายเชื้อไวรัสชนิดนี้ การฉีดล้างด้วยน้ำสะอาด การทำความสะอาดก่อนด้วยสารซักล้าง เช่นผงซักฟอก ก่อนฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อให้ดีขึ้นได้ และอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่หลายคนมักจะมองข้าม คือ ระยะเวลาการสัมผัสเชื้อ ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่ยาฆ่าเชื้อสัมผัสกับเชื้อโดยพ้น หรือหมายถึงระยะเวลาที่เราต้องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ซึ่งในการทดลอครั้งนี้ มีระยะเวลาการสัมผัสเชื้อ 30 นาที ถ้าจะนำข้อมูลจากงานวิจัยนี้ไปใช้ในภาคสนาม ก็ต้องทำการฉีดพ่นรถยนต์หรือโรงเรือนให้เปียกติดต่อกัน 30 นาที ไม่ใช่ฉีดพ่นให้เปียกแล้วจอดหรือพักไว้ 30 นาทีเหมือนที่หลายคนปฏิบัติอยู่

            โดยสรุป บทความนี้เป็นเพียงแนวทางในการเลือกยาฆ่าเชื้อมาใช้ภายในฟาร์ม ซึ่งในทางปฏิบัติจริง สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรต้องขอจากคุณหมอที่มาขายยาฆ่าเชื้อ คือ ผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ จากห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ที่ระบุถึงความเข้มข้นที่แนะนำ และระยะเวลาการสัมผัสเชื้อ ถึงจะได้ยาฆ่าเชื้อมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและปลอดภัย

 

เอกสารอ้างอิง

Juszkiewicz, M., Walczak, M., Mazur-Panasiuk, N, and Wozniakowski, G. 2020. Effectiveness of chemical compounds used against African swine fever virus in commercial available disinfectants. Pathogens. 9:878.

 

16 กรกฎาคม 2564

ผู้ชม 2126 ครั้ง

Engine by shopup.com