การใช้ยูเรียในอาหารโคและการรักษาการเป็นพิษของยูเรีย (ตอนจบ)

หมวดหมู่: บทความน่ารู้

การปรุงแต่งฟางโดยใช้ยูเรีย

ทำโดยใช้สัดส่วน ฟางข้าวที่ไม่ขึ้นรา : น้ำ : ปุ๋ยยูเรีย (100:100:6) สัดส่วนน้ำหนัก (กก.)  สำหรับพื้นที่ที่ใช้เตรียมฟาง อาจเป็นพื้นที่ราบธรรมดา หรือทำเป็นห้องมีหลังคาก็ได้ ส่วนฟางข้าว สามารถเลือกใช้ฟางข้าวเจ้า หรือฟางข้าวเหนียวก็ได้เช่นกัน หากต้องการทำฟางข้าวปรุงแต่ง 1,500 กก. พื้นที่ที่ต้องใช้ คือ 9 × 9 เมตร

 

วิธีการปรุงแต่งฟางข้าว 1,500 กก.

  1. ปูพลาสติกให้เหลื่อมกันประมาณ 1 คืบ จนเต็มพื้นที่
  2. ทำคันกั้นโดยรอบพลาสติก
  3. นำฟางจำนวน 100 กก. มากระจายให้เต็มพื้นที่
  4. น้ำที่ใช้ 100 กก. แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
                        - 60 กก. รดลงบนกองฟางก่อน
                        - 40 กก. นำปุ๋ยยูเรีย 6 กก. มาละลายแล้วรดลงบนกองฟาง
  5. ทำตามข้อ 3 – 4 จนครบ 15 ชั้น
  6. ปิดกองฟางด้วยพลาสติก โดยให้เหลื่อมกันเพื่อกันอากาศเข้าออก
  7. คลุมกองฟางด้วยเศษฟาง หรือกระสอบ แต่ถ้าทำในห้องโรงเรือนก็ไม่ต้องคลุม
  8. เมื่อปรุงแต่งครบ 3 สัปดาห์ สามารถเปิดมาใช้ได้

คำแนะนำ

  1. หากเตรียมฟางในห้องหรือโรงเรือน อาจไม่ต้องปูพลาสติกที่พื้นก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าอยู่ในระบบปิด
  2. ฟางข้าวอาจไม่ต้องแก้ฟ่อนก็ได้ แต่คุณภาพในการปรุงแต่งอาจไม่ดีนัก
  3. การรดน้ำส่วนหนึ่งลงไปก่อนจะทำให้ฟางข้าวซับน้ำดีขึ้น จากนั้นรดน้ำปุ๋ยยูเรียลงไปอย่างช้าๆ
  4. การผสมน้ำกับปุ๋ยยูเรีย ควรผสมในถังใหญ่ครั้งเดียวจะสะดวกในการปฏิบัติ
  5. ข้อควรระวัง หากผสมยูเรียกับน้ำ หรือกากน้ำตาลเสร็จแล้วใช้ราดฟางไม่หมดให้เก็บให้มิดชิด ห้ามนำไปให้ลูกโค หรือโครุ่นกินโดยเด็ดขาด

ลักษณะของฟางปรุงแต่งที่ดี

คุณค่าอาหารของฟางปรุงแต่ง

1. มีสีน้ำตาลเข้มกว่าปกติ

เพิ่มโปรตีนจาก 3 – 4 % เป็น 7 – 9 % ของวัตถุแห้ง

2. มีกลิ่นแอมโมเนีย

เพิ่มการย่อยได้จาก 45 % เป็น 50 – 55 %

3. มีความชื้นประมาณ 50 %

สัตว์กินฟางได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30 – 40 %

4. มีลักษณะอ่อนนุ่ม

เพิ่มพลังงานสุทธิที่สัตว์จะนำไปใช้ประโยชน์ได้

5. ไม่มีรา

เพิ่มผลผลิตให้แก่สัตว์ (เนื้อและนม)

การนำฟางปรุงแต่งยูเรียมาเป็นอาหารโค

  1. ห้ามใช้เลี้ยงโคอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพราะกระเพาะหมักยังทำงานได้ไม่ดีพอ
  2. การปรุงฟางข้าวจะต้องใช้เวลา 3 สัปดาห์ จึงเปิดใช้ได้ การเปิดกองก่อนกำหนดจะทำให้การปรุงแต่งไม่สมบูรณ์และเกิดโทษต่อโคได้ วิธีการเปิดกอง จะเปิดจากทางด้านกว้างของบ่อโดยนำวัสดุคลุมออก แล้วเปิดพลาสติกพับตามขวาง นำฟางปรุงแต่งฟ่อนริมสุดทั้งชั้นบนและชั้นล่างออกมาใช้ตามปริมาณที่ต้องการในแต่ละวัน จนหมดกองจึงเปิดกองใหม่ต่อไป
  3. ฟางที่ปรุงแต่งคุณภาพแล้ว จะมีกลิ่นแอมโมเนียแรงมากต้องนำมาผึ่งในร่มให้หมดกลิ่นแอมโมเนียเสียก่อน ประมาณ 2 – 3 ชม. ในตอนกลางวัน หรือเปิดบ่อตอนค่ำแล้วผึ่งฟางไว้ตลอดคืน รุ่งเช้าสามารถนำไปเลี้ยงโคได้
  4. ควรให้โคกินทีละน้อย จนคุ้นเคยจึงให้กินเต็มที่
  5. ควรหาหญ้าสดเสริมให้สัตว์กินบ้าง
  6. การปฏิบัติในส่วนอื่น ๆ เช่น การให้น้ำ อาหารข้น ควรปฏิบัติเหมือนเดิม

การปรุงแต่งฟางโดยใช้กากน้ำตาลกับยูเรีย

ทำโดยใช้สัดส่วน ฟางข้าวที่ไม่ขึ้นรา : น้ำ : ปุ๋ยยูเรีย : กากน้ำตาล  (100:60:1.5:7.5) สัดส่วนน้ำหนัก (กก.) วิธีเสริมฟาง นำฟางมาเกลี่ยตามรางจ่ายอาหาร ให้โคกินฟางแห้งให้มากไว้ก่อน  จากนั้นจึงละลายยูเรียกับกากน้ำตาล และน้ำ ในอัตราส่วนที่กำหนดให้เข้ากัน ใช้บัวรดน้ำราดส่วนผสมดังกล่าวลงบนฟางให้โคกิน (โคกินประมาณ 3% ของน้ำหนักตัว) ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาการเป็นพิษของยูเรีย เพราะอาจมีโคบางตัวหิวมาก หากราดกากน้ำตาลกับยูเรียให้กินก่อนโคอาจกินยูเรียในปริมาณมากจนเป็นอันตรายได้

 

ขบวนการใช้ประโยชน์โปรตีนจากอาหารในสัตว์เคี้ยวเอื้อง

การย่อยสลายของอาหารโปรตีนแท้ และไนโตรเจนที่มาจากโปรตีนไม่แท้ ในสัตว์เคี้ยวเอื้องจะเกิดขึ้น เมื่อสัตว์กินอาหารเข้าไปถึงกระเพาะหมัก ในกระเพาะหมักจะมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่จำนวนมาก และหลายชนิด ประมาณ 60% ของอาหารที่เป็นโปรตีนแท้จะถูกย่อยสลายให้เป็นแอมโมเนียด้วยจุลินทรีย์ในกระเพาะหมัก ส่วนอีก 40% จะไหลผ่านไปยังกระเพาะแท้ และลำไส้เล็ก

สำหรับสารประกอบที่ไม่ใช่โปรตีนแท้ (ยูเรีย) จะถูกย่อยสลายเป็นแอมโมเนียทั้งหมด แอมโมเนียที่ได้จากโปรตีนแท้ และแอมโมเนียจากสารประกอบไม่ใช่โปรตีน ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับอาหารพลังงาน จุลินทรีย์ใช้เพื่อการเจริญเติบโตของตัวมันเองกลายเป็นจุลินทรีย์โปรตีน  (microbial protein, MP) นอกจากนี้จะมีแอมโมเนียบางส่วนผ่านเข้ามาในระบบการย่อยทางน้ำลาย และผนังของกระเพาะรูเมนอีกครั้ง ซึ่งการหมุนเวียนของแอมโมเนียระบบนี้ จะสามารถช่วยให้สัตว์เคี้ยวเอื้องได้รับไนโตรเจนเพิ่มขึ้นในช่วงระยะที่สัตว์อดอาหาร หรือได้รับอาหารที่มีไนโตรเจนต่ำ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากแอมโมเนียส่วนนี้

แอมโมเนียบางส่วนที่เกินจะถูกส่งไปที่ตับเปลี่ยนเป็นยูเรีย และขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ส่วนจุลินทรีย์โปรตีนและโปรตีนที่เหลือจะผ่านมายังกระเพาะแท้ และลำไส้เล็ก ซึ่งจะถูกย่อยสลาย ถูกดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีพและการให้ผลผลิตสำหรับตัวสัตว์ต่อไป ส่วนที่ไม่สามารถสลาย และดูดซึมไม่ได้ก็จะถูกขับออกจากร่างกายทางอุจจาระ

 

ข้อควรระวังในการใช้ยูเรีย และการรักษาการเป็นพิษของยูเรีย

ต้องผสมยูเรียเข้ากับอาหารให้ดี อย่าให้ยูเรียจับเป็นก้อน ให้ใช้ยูเรียร่วมกับวัตถุดิบที่ให้พลังงานสูง คำนึงถึงความสมดุลของแร่ธาตุที่สำคัญต่าง ๆ  เช่น  แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ทองแดง โคบอลท์ แมงกานิส ไอโอดีน แมกนีเซียม กำมะถัน และต้องมี วิตามิน เอ ดี อี อย่างพียงพอ

ยูเรียเองไม่เป็นพิษต่อตัวสัตว์ การเป็นพิษจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อยูเรียสลายตัวได้แอมโมเนีย ซึ่งแอมโมเนียนี้เองที่เป็นพิษกับเนื้อเยื่อ เมื่อสัตว์กินอาหารโปรตีนสูงๆ หรือกินสารประกอบที่ไม่ใช่โปรตีนแท้มากเกินไป จะส่งผลให้ในกระเพาะหมัก ผลิตแอมโมเนียมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดเกินกว่า 2 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ สัตว์จะแสดงอาการเป็นพิษ และหากแอมโมเนียในเลือดสูงถึงระดับ 3 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ สัตว์จะเป็นอันตรายถึงตายได้  อาการเป็นพิษที่พบทั่วไป คือ หลังจากกินยูเรียเข้าไปประมาณ 20 นาที จะแสดงอาการน้ำลายฟูมปากหายใจลึก หรือหายใจลำบาก มีอาการทางประสาท กล้ามเนื้อชักกระตุกอย่างรุนแรง ท้องอืด สัตว์จะล้มลงนอน และตายในที่สุด

การรักษาการเป็นพิษของยูเรียที่ได้ผล ควรทำก่อนหน้าที่โคจะมีอาการจุกเสียดมีการชักกระตุก ทำการกรอกน้ำส้มสายชูตัวละ 1–2 ลิตร เพื่อให้ไปสลายฤทธิ์ของยูเรีย ตามหลักกรดผสมด่าง จะได้เป็นน้ำและสารประกอบในรูปเกลือ เพราะยูเรียเมื่อย่อยสลายในกระเพาะหมักโคจะได้แอมโมเนียที่เป็นด่างอย่างรุนแรง เมื่อให้น้ำส้มสายชูซึ่งเป็นกรด กรดผสมด่างจะทำให้แตกตัวสลายกลายเป็นน้ำและสารประกอบในรูปเกลือซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อตัวโค น้ำส้มสายชูเป็นกรดที่ไม่รุนแรงไม่ระคายเคืองมากนัก โคสามารถรับกับสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะได้ดี โคสามารถทำลายสภาวะกรดได้ด้วยการเคี้ยวเอื้องเอาน้ำลายซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างไปสลายกรดในกระพาะได้  การหาอาหารหยาบคุณภาพดีให้โคกินอยู่เสมอจะช่วยให้การหลั่งน้ำลายออกมาได้มาก

ในขณะปฏิบัติช่วยเหลือโค หากยังหาน้ำส้มสายชูไม่ได้ การช่วยเหลือเบื้องต้นที่ควรทำ คือ การใช้น้ำเย็นกรอกให้โคกินเพื่อบรรเทาความรุนแรง เนื่องจากน้ำเย็นจะทำให้อุณหภูมิของของเหลวในกระเพาะหมักลดลง ช่วยลดอัตราการแตกตัวของยูเรียทำให้การดูดซึมแอมโมเนียเข้ากระแสเลือดลดลง น้ำเย็นช่วยเจือจางความเป็นพิษของแอมโมเนียโคจะรู้สึกสบายตัวมากขึ้น ไม่กระวนกระวาย

นอกจากการกรอกน้ำส้มสายชูแล้วสิ่งที่ควรทำเพิ่มอีกอย่างหนึ่งคือ การให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดเพื่อช่วยขับความเป็นด่างที่อยู่ในเลือดให้หมดไป เนื่องจากแอมโมเนียบางส่วนถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดไปแล้ว การให้น้ำเกลือจะส่งผลให้โคฟื้นตัวเร็วขึ้น

 

 

เอกสารอ้างอิง

กรมปศุสัตว์. 255?. 25 การใช้ประโยชน์จากยูเรียเป็นอาหารสัตว์. http://nutrition.dld.go.th/Nutrition_Knowlage/ARTICLE/ArtileC.htm

กฤช พจนอารี. 255?. สืบจากซาก ตอน เล่นกับไฟ. วารสารโคนม ปีที่ 25 ฉบับที่ 1.

วิจักษณ์ จันทาสี. 2556. การจัดการพืชอาหารสัตว์สำหรับโคนม. คู่มือการเลี้ยงโคนม. ครั้งที่ 8. แผนกถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนม องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย อสค.

วิโรจน์ ภัทรจินดา. 2563. ยูเรียกับความเข้าใจผิด. CowNews: จดหมายโคนม. ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

 

 

 

คุณวรรณเพ็ญ สุขเฉลิม ฝ่ายวิชาการ บริษัท เวท อะกริเทค จำกัด                    

 

 

10 พฤศจิกายน 2564

ผู้ชม 1197 ครั้ง

Engine by shopup.com